วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันวิสาขบูชา


วันวิสาขบูชา



วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะหรือเดือน ๖ เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ - ตรัสรู้ - และเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ความสำคัญ พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานเวียนมาบรรจบในวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือนวิสาขะ จึงถือว่าเป็นวันที่สำคัญของพระพุทธเจ้า หลักธรรมอันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้และเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ความกตัญญู อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท ประวัติความเป็นมา

๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ อย่าง เกิดขึ้นในวันเดียวกันคือ ประสูติ ตรัสรู้ธรรม และปรินิพพาน วันวิสาขบูชาตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

ชาวพุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ สหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก และเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติ เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติเมื่อ ๒๖๐๐ กว่าปี ล่วงมาแล้ว
พระบิดาพระนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดาพระนามว่าพระนางสิริมหามายา ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นเจ้าชายในราชสกุลโคตมะ แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย คำว่า 'พุทธ' หรือ 'พุทธิ' ในภาษาบาลีและสันสกฤตมีความหมายเหมือนกัน แปลว่า ปัญญา หรือ การตรัสรู้

จากคำสอนในพระไตรปิฎกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าคือผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงเป็นผู้รู้สัจจธรรม และทรงมีพระญาณทัศนะกว้างไกลที่พระองค์ทรงรู้เห็นกำเนิด และความเป็นไปของสัตว์โลกตลอดภพสาม มีพระพุทธเจ้านับไม่ถ้วนพระองค์ได้อุบัติขึ้นในโลกนี้ เมื่อแต่ละพระองค์ตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐแล้ว ทรงสั่งสอนธรรมะเพื่อให้ชาวโลกพ้นจากวัฏสงสารด้วยมหากรุณา จากพระไตรปิฏก "อปทานสูตร และพุทธวงศ์" กล่าวถึงการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ นานนับอสงไขยกว่าที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ แม้ในขุททกนิกาย ชาดก ได้เล่าการสร้างบารมีถึง ๕๔๗ ชาติของพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ มาตลอดกว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเป็นผู้มีบุญที่เพียบพร้อมด้วยสติปัญญา และความเมตตา หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้เพียง ๗ วัน พระมารดาก็สวรรคต พระน้านางคือพระนางปชาบดีโคตมี เป็นผู้บำรุงเลี้ยงรักษา หลังจากประสูติได้ไม่นาน พระบิดาได้อัญเชิญอสิตดาบสมาทำนายอนาคตของเจ้าชายสิทธัตถะ อสิตดาบสแสดงอาการประหลาดต่อหน้าพระที่นั่งคือ หัวเราะและร้องไห้ หัวเราะเพราะดีใจที่ได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะ และได้ทำนายว่าเจ้าชายจะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน แต่ร้องไห้เพราะอสิตดาบสนั้นจะมีอายุไม่ยืนยาวทันรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ คำทำนายนี้ได้รับการยืนยันจาก โกณฑัญญะ ซึ่งเป็นดาบสอีกท่านหนึ่งที่ทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะจะสละราชสมบัติ เมื่อผนวชแล้วจะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ส่วนดาบสอื่น ๆ ล้วนทำนายว่า ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะไม่ทรงผนวช จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ คำทำนายดังกล่าวสร้างความตระหนกพระทัยแก่พระเจ้าสุทโธทนะเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงปรารถนาจะให้เจ้าชายสิทธัตถะปกครองแว่นแคว้นสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ และเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ จึงทรงป้องกันเจ้าชายสิทธัตถะไม่ให้เห็นความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวดต่าง ๆ ที่จะทำให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงรู้สึกเบื่อหน่าย และอยากออกบวช
ด้วยเหตุนี้พระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงมีพระบัญชาให้เหล่าอำมาตย์เสนาบดี ช่วยกันสร้างปราสาทสามฤดูแก่เจ้าชาย ปราสาทแต่ละแห่งแวดล้อมด้วยเหล่าสนมกำนัลที่สวยงาม ชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนทรงออกผนวช จึงเป็นชีวิตที่เพียบพร้อมด้วย รูปสมบัติ และทรัพย์สมบัติอย่างแท้จริง. เมื่อเจ้าชายทรงพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระมเหสีคือพระนางยโสธรา พิมพาประสูติพระโอรส พระนามว่า ราหุล วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงรถม้าประพาสสวนนอกเมือง ทรงเห็นคนแก่ คนป่วย คนตาย และนักบวช ภาพคนแก่ คนป่วย และคนตายทำให้พระองค์นึกถึงความทุกข์ และความไม่เที่ยงแท้ของสังขารมนุษย์ ต่อมาเจ้าชายสิทธัตถะจึงทรงออกจากวัง ถือเพศเป็นนักบวชเที่ยวภิกขาจารไปเพื่อแสวงหาโมกขธรรม วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้ธรรม ณ ใต้ควงต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะบรรลุธรรม เจ้าชายสิทธัตถะได้แสวงหาผู้สอนวิธีหลุดพ้นแก่พระองค์ ๒ คนคือ อาฬารดาบส และอุทกดาบส ซึ่งทั้งสองนี้สอนพระองค์ให้ได้ญานชั้นสูง แต่ไม่บรรลุธรรม เมื่อพระองค์บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงประกาศธรรม เผยแผ่คำสอนที่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติตามพ้นทุกข์ตามพระองค์ไปได้ พระพุทธองค์ ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นเวลา ๔๕ ปี ทรงวางรากฐานพระพุทธศาสนา และมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ซึ่งในสมัยนั้นมีตั้งแต่ กษัตริย์ เจ้าชาย พ่อค้า แม่ค้า พราหมณ์ เศรษฐี ยาจกเข็ญใจ และชนทุกชั้นในสังคม

๒. การถือปฏิบัติวันวิสาขบูชาในประเทศไทย การประกอบพิธีวิสาขบูชาในเมืองไทยเริ่มทำมาแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะได้รับแบบอย่างมาจากลังกากล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกราช กษัตริย์แห่งลังกาได้ประกอบพิธีสาขาบูชาอย่างมโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติ ในสมัยสุโขทัยนั้น

ประเทศไทยกับประเทศลังกา มีความสัมพันธ์กันทางด้านพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิดมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกาได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย ในหนังสือนาง-นพมาศ ได้กล่าวถึงบรรยากาศการประกอบพิธี วิสาขบูชา สมัยสุโขทัย ไว้พอสรุปใจความได้ว่า "เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย ทั่วทุกหมู่บ้านทุกตำบลต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษด้วยดอกไม้ของหอมจุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วทั้งพระนคร เป็นการบูชาพระรัตนตรัยเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีลและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาตอนเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรม-วงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสด็จไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยต่างชวนกันรักษาศีล ฟังพระเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทรัพย์ แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่และคนพิการบางพวกก็ชักชวนกันสละทรัพย์ซื้อสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และ เต่า ปลาเพื่อไถ่ชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระโดยเชื่อว่าจะทำให้ตนมีอายุยืนยาวต่อไป" ในสมัยอยุธยา

สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฎหลักฐานว่าได้มีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงปรากฎหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธ-เลิศหล้านภาลัย มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ ให้ปรากฎในแผ่นดินไทยต่อไปกับมีพระประสงค์ จะให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุและอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศก โรคภัย และอุปัทวะอันตรายต่าง ๆ โดยทั่วกัน ฉะนั้นการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

- หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ -









๑. ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อนเป็นคุณธรรมคู่กับ ความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการะคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้นผู้ที่ทำอุปการรคุณก่อนเรียกว่า บุพการี ขอยกมากล่าวในที่นี้คือ บิดามารดา และครูอาจารย์ บิดามารดา มีอุปการะคุณแก่บุตร ธิดา ในฐานะเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ให้การศึกษา อบรมสั่งสอน ให้ละเว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้จัดหาคู่ครอบที่เหมาะสมให้และมอบทรัพย์สมบัติให้ไว้เป็นมรดก บุตร ธิดา เมื่อรู้อุปการะคุณที่บิดามารดาทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการประพฤติตัวดี สร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล เลี้ยงดูท่าน และช่วยทำงานของท่าน และเมื่อล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน ครูอาจารย์ มีอุปการะคุณแก่ศิษย์ในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ให้ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดีสอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่ปิดบัง ยกย่องให้ปรากฎแก่คนอื่นและช่วยคุ้มครองศิษย์ทั้งหลาย ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน ให้เกียรติ และให้ความเคารพไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดีส่งผลให้ครอบครัวและสังคมมีความสุขได้ เพราะบิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และบุตร ธิดา ก็จะรู้จัก หน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน สำหรับครูอาจารย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณ คือ สอนศิลปวิทยาอย่างเต็มที่และศิษย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการตั้งใจเรียน และให้ความเคารพเป็นการตอบแทน นอกจากจะใช้ในกรณีของบิดามารดากับบุตรธิดา และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่าง พระมหากษัตริย์กับพสกนิกร นายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อนกับเพื่อนและบุคคลทั่วไป รวมทั้งมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุพการีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาและทรงสอนทางพ้นทุกข์ให้แก่เวไนย-สัตว์ พุทธศาสนิกชน รู้พระคุณอันนี้ จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา กล่าวคือ การจัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชา เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ ด้วยการทำนุบำรุงส่งเสริม พระพุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป

๒. อริยสัจ ๔ อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคนมี ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า มนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกันทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐานและทุกข์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันคือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ตามใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิด เหตุนั้น คือ ตัณหา อันได้แก่ ความอยากได้ต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วย ความยึดมั่น นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิตทั้งหมดนั้นแก้ไขได้ โดยการดับตัณหา คือ ความอยากให้หมดสิ้น มรรค คือ ทางหรือวิธีแก้ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็ เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิตทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้นต้องแก้ไขตามมรรคมีองค์ ๘

๓. ความไม่ประมาท ความไม่ประมาท คือ การมีสติทั้งขณะทำ ขณะพูดและขณะคิด สติ คือ การระลึกรู้ทัน ที่คิด พูดและทำ ในภาคปฏิบัติเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึงการระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน . การฝึกให้เกิดสติ ทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถกล่าวคือ ระลึกรู้ทันในขณะยืน เดิน นั่งและนอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูดขณะคิด และขณะทำงานต่าง ๆ ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุอันได้แก่ พระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ด้วยบทสวดมนต์ตามลำดับดังนี้คือ .


บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ
" อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปนโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ.
บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ
สวากขาโต ภะคะวา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ.
บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสสะ ยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระนีโย อะนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสาติ.


จากนั้นก็จะกระทำ ประทักษิณ หรือที่เรียกว่า เวียนเทียน รอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฎิมาในพระอุโบสถ ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ รอบแรกจะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ รอบที่สองจะสวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ และรอบที่สามสวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ เมื่อครบ 3 รอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ณ ที่บูชาอันควรเป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียน
จากนั้นก็จะมีการแสดงพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถ ซึ่งปกติจะมีเทศน์ ปฐมสมโพธิ ซึ่งเป็นเรื่องพระพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน พิธีเริ่มตั้งแต่ประชุมฟังพระทำวัตรสวดมนต์ แล้วจึงฟังเทศน์ซึ่งจะมีไปตลอดรุ่ง

วันวิสาขบูชาจึงเป็นวันที่พุทธศาสนิกชน ได้บำเพ็ญประโยชน์ตน และสืบต่อพระพุทธศาสนา ให้ดำรงคงอยู่อย่างถูกต้องตรงทาง เพื่อประโยชน์สุขของตนและของผู้อื่นตลอดชั่วกาลนาน.....เอวํ
วิธีปฏิบัติตนและพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

พุทธศาสนิกชน ควรปฏิบัติตนและเข้าร่วมพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังนี้







1. ตอนเช้าทำบุญตักบาตรที่วัด รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และเจริญจิตภาวนา
2. ตอนค่ำประชาชรมาร่วมพิธีเวียนเทียนโดยมาพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ ในขณะที่เวียนเทียนให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
นอกจากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 6 วัน ดังกล่าวแล้วยังมีวันธรรมสวนะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันพระ” เป็นวันขึ้น 8 ค่ำ แรม 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ แรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ ของทุกเดือน เป็นวันที่ชาวพุทธมาบำเพ็ญกุศลให้กับตนเอง วันธรรมสวนะนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งถือเป็นวันบำเพ็ญกุศลของชาวพุทธทั่วไป การปฏิบัติตนวันธรรมสวนะ หรือวันพระ คือ

1. ชาวพุทธที่ไปทำบุญที่วัดในวันพระ คือ เมื่อถึงวันพระ ชาวพุทธก็ไปทำบุญที่วัด เตรียมอาหารคาว หวาน จัดใส่ปิ่นโต พร้อมนำดอกไม้ ธูป เทียนบูชาพระประธานที่วัด
2. ชาวพุทธไปรักษาศีลอุโบสถ รักษาศีล 5 ศีล 8 จะค้างที่วัด ชาวพุทธจะไปรักษาศีลอุโบสถที่วัด นิยมสวมชุดสีขาว เพื่อระวังจิตใจของตนเองให้ขาวสะอาดบริสุทธิ์ เหมือนผ้าสีขาวที่ใส่หรือสวมชุดสุภาพเรียบร้อย

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยา









การปกครองสมัยอยุธยา


กรุงศรีอยุธยา เคยเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัยมาก่อน เมื่อสิ้นรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง ปรากฎว่าหัวเมืองมอญซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นได้ก่อการกบฎกรุงสุโขทัยนั้นไม่สามารถปราบปรามได้ พระเจ้าอู่ทองทรงเห็นว่ากรุงสุโขทัยอ่อนอำนาจลง จึงประกาศอิสรภาพและทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนแปลงตามแบบขอม คือ แบบเทวสมมติ (Divine rights)







ลักษณะสำคัญของการปกครองระบบเทวสมมติ หรือเทวสิทธิ์นี้ มีข้อน่าสังเกตุอยู่ 3 ประการ คือ




1. รัฐเกิดโดยพระเจ้าบงการ




2. พระเจ้าทรงเป็นผู้แต่งตั้งผู้ปกครองรัฐ




3. ผู้ปกครองรัฐมีความรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงผู้เดียว







ระบบเทวสิทธิ์นี้ ถือคติการปกครองมาจากขอมและฮินดูโดยแบ่งแยกผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครองออกจากกัน พระมหากษัตริย์ถูกยกย่องให้เป็นสมมุติเทพเช่นพระอิศวรหรือพระนารายณ์"การปกครองแบบเทวสิทธิ์ กระทำให้ชนชั้นปกครองกลายเป็นชนชั้นหนึ่งต่างหาก มีอภิสิทธิ์เสมือนเทพเจ้าตามคติของฮินดูราษฎรกลายเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจและผู้ถูกปกครองอย่างแท้จริง สมบูรณาญาสิทธิราชถือกำเนิดมาจากระบบนี้และเป็นที่มาของลัทธิมูลนายกับบ่าวหรือทาส และระบบศักดินา"







ลักษณะการปกครองสมัยโบราณนั้น มีเค้าเงื่อนปรากฏเป็นลักษณะการปกครอง 2 แบบ คือ แบบหนึ่งเป็นแบบขอมเข้ามาครอบครองถิ่นฐานประเทศอยู่เดิม ขอมมีการปกครองตามคติที่ได้มาจากอินเดียส่วนไทยปกครองอย่างแบบไทยเดิม ส่วนทางใต้ปกครองตามแบบขอมเพราะขอมยังมีอำนาจอยู่ในเมืองต่าง ๆ เช่น ละโว้และเมืองอื่น ทางใต้การปกครองของขอมและของไทยมีที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือถืออาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นใหญ่ ต่างก็มีพระมหากษัตริย์ด้วยกันทั้งสองแบบแต่ของขอมนั้นถือลัทธิตามชาวอินเดีย คือสมมุติพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ พระอิศวรหรือพระนาราย์แบ่งภาคมาเลี้ยงโลกและอาศัยความเป็นเจ้าตำราการปกครองลักษณะการที่ขอมเข้าปกครองราษฎร จึงคล้ายกับนายปกครองบ่าว (Autocratic government) ส่วนการปกครองของไทยนั้น นับถือพระจ้าแผ่นดินเป็นบิดาของ

ประชาชน วิธีการปกครองก็เอาลักษณะการปกครองของสกุลมาเป็นคติ และถือว่าบิดาเป็นผู้ปกครองครัวเรือน




ต่อมาในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ทรงได้ปรับปรุงระบอบการปกครองใหม่ โดยมีพระมหากษัตริยเ์ป็นผู้อำนวยการปกครองเรียกการปกครองแบบนี้ว่า การจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็นราชธานีและเมืองพระยามหานครตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าราชธานีมีวงเขตแคบลงทั้งนี้ก็ด้วยมีความประสงค์ให้หัวเมืองชั้นในติดต่อกับราชธานีได้โดยสะดวก ส่วนหัวเมืองชั้นนอกอันเป็นเมืองพระยามหานครนั้นอยู่ห่างไกลออกไปจากราชธานี เมื่อการคมนาคมยังไม่เจริญ ก็ย่อมติดต่อกับราชธานีได้โดยมากราชการบริหารส่วนกลางไม่สามารถควบคุมดูแลได้อย่างใกล้ชิด เมืองพระยามหานคร จึงเกือบไม่ขึ้นต่อราชการบริหารส่วนกลางเลย เจ้าเมืองผู้ปกครองเมืองเหล่านั้นเป็นผู้แทนพระมหากษัตริย์และได้รับการมอบหมายให้ใช้อำนาจแทนพระมหากษัตริย์ ทั้งในทางการปกครอง และในทางตุลาการ เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรง

แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแล้วก็มีอำนาจที่จะปกครองเมืองได้อย่างเต็มที่ เกือบไม่ต้องขึ้นหรือคอยรับคำสั่งจากราชธานีด้วยเหตุนี้เมื่อพระมหากษัตริย์ใดทรงมีอานุภาพก็รักษาเอกภาพแห่งพระราชอาณาจักรไว้ได้อย่างเรียบร้อย แต่ถ้าพระมหากษัตริย์องค์ใดหย่อนอานุภาพลง เจ้าเมืองมักจะคิดตั้งตนเป็นอิสระทำให้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาณาจักรไม่มั่นคง เหตุดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากราชการส่วนกลางและราชการปกครองส่วนภูมิภาคไม่มีความสัมพันธ์กันเพียงพอ







รัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งได้ทรงปรับปรุงรูปแบบการปกครองขึ้นใหม่ โดยแยกการบริหารราชการออกเป็นฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร สำหรับฝ่ายพลเรือนรับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทางด้านเวียง วัง คลัง นา มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนกิจการเกี่ยวกับทหารและการป้องกันประเทศ เช่นกรมช้าง กรมม้าและกรมทหารราบ มีสมุหกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้จึงมีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของการจัดการปกครองประเทศการปกครองได้เป็นไปในทางเสริมสร้างสมบูรณาญาสิทธิราชเต็มที่ เพราะได้พวกพราหมณ์และพวกเจ้านาย ท้าวพระยามาจากกรุงกัมพูชา ซึ่งมีความชำนาญทางการปกครองอย่างถ้วนถี่ดีกว่าที่เคยรู้มาแต่ก่อนไว้ ดังนั้นแนวความคิดเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันแห่งพระองค์ ก็คงจะต้องเข้มงวดกวดขันยิ่งกว่าแต่กาลก่อน คือถือว่าเป็นสมมติเทวราชเต็มรูปแบบสำหรับการปรับปรุงแก้ไขการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาค อันเป็นผลของการปฏิรูปดังกล่าวนั้นก็คือได้มีการขยายเขตราชธานี และหัวเมืองชั้นในออกไปให้กว้างกว่าเดิม เพื่อที่จะได้รวมอำนาจการปกครองเข้าไว้ในส่วนกลางให้ราชการบริหารส่วนกลาง สามารถควบคุมส่วนภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้นและจัดหัวเมืองชั้นในอยู่ในวงของราชธานีเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา ส่วนหัวเมืองชั้นในพระมหากษัตริย์ทรงอำนวยการปกครองโดยมีเสนาบดีเป็นผู้ช่วย ฉะนั้นผู้ปกครองหัวเมืองชั้นในหรือเมืองชั้นจัตวาจึงเรียกว่า "ผู้รั้ง"ไม่ใช่เจ้าเมืองและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งชั่วเวลา 3 ปี ส่วนกรมการอันเป็นพนักงานปกครองก็ขึ้นอยู่ในความบังคับบัญชาของเจ้ากระทรวงต่างๆ ในราชธานีนอกจากนั้นปรากฎตามกฎมนเทียรบาลและทำเนียบศักดินาหัวเมืองได้เลิกเมืองลูกหลวง 4 ด้านของราชธานีตามที่มีมาแต่ก่อน คงให้มีฐานะเป็นเพียงเมืองชั้นจัตวาอาณาเขตวงราชธานี ซึ่งได้ขยายออกไปภายหลังการปฏิรูปครั้งใหญ่นี้ ส่วนระเบียบการปกครองเมืองภายนอก วงราชธานียังคงจัดเป็นเมืองพระยามหานครตามเดิม แต่แบ่งออกเป็นเมือง ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรีเมืองชนิดนี้ต่อมาเรียกว่ หัวเมืองชั้นนอกเพราะอยู่วงนอกราชธานีและอยู่ห่างไกลหรือเพราะอยู่หน้าด่านชายแดนแต่ละเมืองก็มีเมืองอยู่ในอาณาเขตทำนองเดียวกับวงราชธานีและบรรดาเมืองชั้นนอก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งพระราชวงศ์หรือข้าราชการชั้นสูงศักดิ์เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองมีอำนาจบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดอย่างเป็นผู้ต่างพระองค์ทุกอย่างและมีกรมการพนักงานปกครองทุกแผนกอย่างเช่นในราชธานีหัวเมืองต่อนั้นออกไป ซึ่งเมืองชนต่างชาติต่างภาษาอยู่ชายแดนต่อประเทศอื่นให้เป็นเมืองประเทศราชมีเจ้านายของชนชาตินั้นปกครองตามจารีตประเพณีของชนชาตินั้นๆ และเมืองนั้นต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองกับเครื่องราชบรรณาการมีกำหนด 3 ปีครั้งหนึ่ง







ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคปลีกย่อยออกไปอีก ซึ่งได้แก่การจัดระเบียบการปกครองภายในเมืองหนึ่งๆทั้งหัวเมืองชั้นนอกและชั้นใน หรือเรียกว่า ระเบียบการปกครองท้องที่ โดยแบ่งเมืองออกเป็นแขวง แขวงแบ่งออกเป็นตำบล ตำบลแบ่งออกเป็นบ้าน ซึ่งเป็นที่รวมของหลาย ๆ ครัวเรือนแต่มิได้กำหนดจำนวนคน หรือจำนวนบ้านไว้การแบ่งเขตการปกครองตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่าไม่มีรูปร่างผิดแปลกไปกับการปกครองสมัยปัจจุบันมาก นักกฏหมายปกครองท้องที่ตราขึ้น ในสมัยหลังได้ร่างขึ้นโดยอาศัยรูปการปกครอง ซึ่งมีอยู่แต่เดิมเป็นหลักใหญ่และได้แก้ไขดัดแปลงบ้างเล็กน้อยเท่านั้น







การปกครองระบบเทวสิทธิ์นี้ ถ้าจะพิจารณาถึงผลสะท้อนที่เกิดกับการบริหารแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยในสมัยนั้น เมื่อมีการสถาปนาประเทศเข้าสู่เสถียรภาพ ข้อเสียของระบบเทวสิทธิ์ก็ปรากฏขึ้นเช่นชนฝ่ายปกครองหรือกษัตริย์ถูกแยกห่างออกจากฝ่ายถูกปกครองคือประชาชนมากเกินไปจนกลายเป็นชนชั้นหนึ่งอีกต่างหาก ซึ่งแตกต่างจากการปกครองระบบบิดาและบุตรมาก ประกอบกับชนชั้นปกครองระดับรองลงมา อันได้แก่ มูลนายต่าง ๆ ช่องทางการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต เกิดการกดขี่ทารุณและคดโกงขึ้น ตำแหน่งพระมหากษัตริย์กลายเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจและอภิสิทธิ์ยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งพึงปรารถนาในทางโลก ผู้ใดยึดครองตำแหน่งย่อมได้มาทั้งอำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆ ดุจเทพเจ้า ฉะนั้นตลอดระยะเวลาอันยาวนานของการปกครองใต้ระบบเทวสิทธิ์ ได้มีการช่วงชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งทำให้

เป็นมูลเหตุไปสู่ความอ่อนแอ และต้องสูญเสียเอกราชให้แก่ข้าศึกไปถึงสองครั้งสองครา ซึ่งประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาจะยืนยันข้อความจริงดังกล่าวได้ดี เหตุการณ์เช่นนี้มิได้มีปรากฎในสมัยสุโขทัย ซึ่งถือการปกครองระบบบิดากับบุตร เพราะตำแหน่งกษัตริย์เป็นเพียงเสมือนตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเท่านั้นเมื่อคนที่ได้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสิ้นไป คนใหม่ที่มีอาวุโสรองลงไปจะเข้ารับหน้าที่แทน มิได้ถือว่าเป็นตำแหน่งพิเศษเปี่ยมด้วยอภิสิทธิ์ดังระบบเทวสิทธิ์




ข้อเสีย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของระบบเทวสิทธ์ที่สะท้อนเป็นมรดกต่อการปกครองมาจน

กระทั่งปัจจุบันคือได้สร้างสภาพจิตใจคนไทยให้มีความนิยมนับถือในตัวบุคคลมากกว่าหลักการเกินไปซึ่งเป็นสภาพจิตใจที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดนิสัยราษฎรเลือกผู้ปกครองของตนโดยอารมณ์ในด้านความชอบพอรักใคร่ยกย่องนับถือเป็นเรื่องสำคัญกว่าในเรื่องหลักเกณฑ์และอุดมการณ์







ข้อน่าสังเกต อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับการปกครองระบบเทวสิทธิ์ที่มีต่อการปกครองปัจจุบัน

ระบบโครงสร้างของประชาคมไทยประกอบด้วยชนชั้นใหญ่ ๆ เพียง 2 ชั้น คือชนชั้นปกครองและชนชั้นถูกปกครอง ชนชั้นปกครองนั้นได้แก่ พระมหากษัตริย์ในฐานะเป็นองค์ประมุขของชาติกับบรรดาข้าราชการทั้งหลาย ส่วนชนชั้นถูกปกครองคือ บรรดาเกษตรกรพ่อค้าและประชาชนทั่วไปอย่างไรก็ดีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นไม่ใคร่ มีทั้งนี้เพราะชนชั้นถูกปกครองยอมรับสถานะตนอันเป็นผลทำให้ประชาชนคอยพึ่งบริการจากทางราชการอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นเพราะขาดกลุ่มผลประโยชน์ที่จะคอยรักษาผลประโยชน์แทนประชาชน จึงเกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นถูกปกครองทั้งยังเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึง แนวโน้มในทางที่ประชาชนต้องเป็นผู้อยู่ใต้ปกครองในลักษณะนี้ตลอดไปการที่ปล่อยให้เกิดช่องว่างเช่นนี้ ทำให้บรรดาข้าราชการซึ่งเป็นชนชั้นผู้ปกครองต้องรับภาระเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนตลอดไป ในลักษณะเช่นนี้สภาพความนึกคิดระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองมักมองไปคนละแง่คนละมุมความต้องการของประชาชน จึงมักเป็นสิ่งที่รัฐหยิบยื่นให้เสียเป็น

ส่วนใหญ่ แต่ความต้องการจะสนองเจตนารมณ์ของประชาชน หรือไม่ก็เป็นความยากลำบากอยู่ไม่น้อยที่จะทราบได้ ต่อจากสมัยกรุงศรีอยุธยาก็จะถึงสมัยกรุงธนบุรีในสมัยนี้การจัดระเบียบการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคก็คงถือหลักที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะนับตั้งแต่พระเจ้าตากสินทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว บ้านเมืองยังไม่สงบราบคาบมีหัวเมืองบางแห่งแข็งเมืองคิดขบถจึงต้องเสียเวลาไปปราบปรามหลายครั้ง มิหนำซ้ำพม่ายกกองทัพมาตีเมืองไทยอยู่เสมอก็ต้องเสียเวลายกกองทัพไปทำศึกกับพม่าอยู่เสมอพระองค์ จึงไม่มีโอกาสที่จะทำนุบำรุงประเทศและปรับปรุงการปกครองเลย

วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การปกครองสมัยกรุงสุโขทัย



อาณาจักรสุโขทัยเมื่อแรกตั้งเป็นอาณาจักรเล็กๆสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดคือสมัยพ่อขุนรามคำแหง มหาราชมีอาณาเขตทิศเหนือจรดเมืองลำพูน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือจรดเทือกเขาดงพญาเย็น และภูเขาพนมดงรักทิศตะวันตกจรดเมืองหงศาวดี ทางใต้จรดแหลมมลายู มีกษัตริย์ปกครองเป็นเอกราชติดต่อกันมา 6 พระองค์อาณาจักรสุโขทัย เสื่อมลงและตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมัยพญาไสลือไท โดยทำสงครามปราชัยแก่ พระบรมราชาที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ.1921 และราชวงศ์พระร่วงยังคงปกครองในฐานะประเทศราชติตต่อกันมาอีก 2 พระองค์ จนสิ้นราชวงศ์ พ.ศ.1981

ลักษณะการปกครองของสมัยสุโขทัย

ลักษณะการปกครองของสมัยสุโขทัย เป็นการปกครองแบบบิดาปกครองบุตรหรือการปกครองคนในครอบครัว (Paternalism) คือพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพ่อหรือข้าราชการบริพารเปรียบเสมือนลูกหรือคนในครอบครัวทำการปกครองลดหลั่นกันไปตามลำดับ ศาสตราจารย์ James N. Mosel ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปกครองของไทยในสมัยกรุงสุโขทัยไว้ว่ามีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ มีลักษณะเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูกกับการดำเนินการปกครองแบบหัวเมืองขึ้น มีลักษณะคล้ายเจ้าผู้ครองนครกับยังได้ย้ำว่า การปกครองแบบหัวเมือง หรือเจ้าผู้ครองของไทย แตกต่างกับระบบเจ้าผู้ครองนครของยุโรปอย่างไรก็ดี สำหรับการปกครองแบบบิดากับบุตรนี้ในปาฐกถาของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องลักษณะการปกครองประเทศสยาม แต่โบราณได้อธิบายไว้ว่าวิธีการปกครองในสมัยสุโขทัยนั้น นับถือพระเจ้าแผ่นดินอย่างบิดาของ
ประชาชนทั้งปวงวิธีการปกครองเอาลักษณะการปกครองสกุลมาเป็นคติ เป็นต้น บิดาปกครองครัวเรือนหลายครัวเรือนรวมกันเป็นบ้านอยู่ในปกครองของพ่อบ้าน ผู้อยู่ในปกครอง เรียกว่า ลูกบ้าน หลายบ้านรวมกันเป็นเมืองถ้าเป็นเมืองขึ้นอยู่ในความปกครองของพ่อเมือง ถ้าเป็นประเทศราชเจ้าเมืองเป็นขุนหลายเมืองรวมกันเป็นประเทศที่อยู่ในความปกครองของพ่อขุน ข้าราชการในตำแหน่งต่าง ๆ เรียกว่าลูกขุน วิธีการปกครองของไทยเป็นอย่างบิดาปกครองบุตรยังใช้หลักในการปกครองประเทศไทยมา จนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำว่า
ปกครองแบบพ่อปกครองลูกนี้มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อจิตใจของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง พระเจ้าแผ่นดินสมัยสุโขทัยตอนต้น ประชาชนมักใช้คำแทนตัวท่านว่าพ่อขุน จนเมื่ออิทธิพลของขอมเข้ามาแทรกแซงก็ได้เปลี่ยนไปใช้คำว่าพระยาเสียทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกษัตริย์ ซึ่งเดิมเปรียบเสมือนพ่อกับลูกได้กลายสภาพเป็นข้ากับเจ้าบ่าวกับนายไป


การปกครองระบบบิดากับบุตรนี้พระมหากษัตริย์ในฐานะบิดา ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดถ้าได้พิจารณาถ่องแท้แล้วก็จะเห็นว่าถ้าผู้ปกครองประเทศคือ พระมหากษัตริย์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ราษฎรเสมือนหนึ่งบุตรประชาชนก็ย่อมจะได้รับความผาสุกแต่ถ้าการปกครองดังกล่าวมีลักษณะเป็นข้ากับเจ้าบ่าวกับนายสวัสดิภาพของประชาชนในสมัยนั้นก็น่าจะไม่มีความหมายอะไร อย่างไรก็ดีการที่จะใช้ระบบการปกครองอย่างใดจึงเหมาะสมนั้นนอกจากขึ้นอยู่กับภาวะการณ์ต่างๆในแต่ละสมัยแล้วการเลือกใช้วิธีการปกครองระบบบิดากับบุตรในสมัยนั้นน่าจะถือเอาการปกครองประเทศเป็นนโยบายสำคัญ


การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ความสำเร็จบรรลุอุดมการณ์ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลง
หลายประการ ตราบใดที่ประชาชนในยุคประชาธิปไตยยังรำลึกว่าตนอยู่ในฐานะบุตรที่ผู้ปกครองในฐานะบิดาจะต้องโอบอุ้มตลอดไปบุตรคือประชาชนก็จะขาดความรับผิดชอบละขาดความสำนึกในทางการเมืองที่จะปลูกฝังและเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยได้เช่นกัน หากผู้ปกครองต้องอยู่ในฐานะบิดาที่คอยโอบอุ้มและกำหนดความต้องการของประชาชนในฐานะบุตรแล้ว ความเป็นประชาธิปไตยที่จะให้บรรลุอุดมการณ์แท้จริงก็เป็นสิ่งที่หวังได้โดยยาก







อาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย




สุโขทัย ตั้งอยู่ทางตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่อยู่ห่างจากนครธมหรือ พระนครหลวงราชธานีของอาณาจักรเขมรมากพอควรอำนาจทางการเมืองของเขมรที่แผ่มาถึงอาณาบริเวณนี้ จึงมีไม่มากเท่ากับทางแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วยเหตุนี้สุโขทัยจึงมีโอกาสที่จะก่อร่างสร้างอาณาจักรได้มากกว่า และได้ก่อนกลุ่มคนไทยในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างนอกจากนั้น ในช่วงระยะที่ชนชาติไทยในเขตตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากำลังแผ่ขยายตัวและเริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นนั้น ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่องค์สุดท้ายของอาณาจักรเขมร พระองค์ทรงมีนโยบายแผ่ขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนือของอาณาจักรด้วยการทำสงครามกับอาณาจักรจามปา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสงครามยืดเยื้อ




การที่ต้องพะวงกับการทำสงคราม ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยควบคุมดูแลดินแดนทางแถบ
ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งเป็นบริเวณที่มีความสำคัญต่ออาณาจักรเขมรในแง่ยุทธศาสตร์เพราะสามารถเข้าถึง กรุงยโสธรหรือนครธมเมืองหลวงของอาณาจักรเขมรได้อย่างง่ายดายทำให้พระเจ้าชัยวรมันที่7 ทรงไม่สามารถจัดการกับการแผ่ขยายบทบาททางการเมืองของชนชาติไทยในเขตตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเต็มที่ เมื่อไม่มีทางเลือกพระองค์ก็ต้องทรงสนับสนุนการก่อร่างสร้างเมืองของคนไทยกลุ่มนี้ในฐานะผู้ใหญ่ให้ความอนุเคราะห์แก่ผู้น้อย เพื่อผูกพันบ้านเมืองที่กำลังจะเริ่มเติบโตให้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเขมรในลักษณะของผู้ที่พึ่งพิง ดังจะเห็นได้จากการที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระราชทานพระขรรค์ชัยศรีพระนามกมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์และพระราชธิดาชื่อพระนางสุขรเทวี แก่พ่อขุนผาเมืองนอกจากนั้น เมื่อพิจารณาจากการวางผังเมืองและการวางระบบชลประทานเพื่อนำน้ำมาใช้ในเมืองสุโขทัยแล้ว กล่าวได้ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่7 ทรงมีส่วนในการพระราชทานทรัพย์สิน สิ่งของและช่างฝีมือแก่ผู้นำของคนไทยในเขตตอนบนของลุ่มแม่น้ำ
เจ้าพระยา เพื่อช่วยเหลือให้การสร้างเมืองสุโขทัยบรรลุผลสำเร็จ




หลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาณาจักรเขมรได้เสื่อมลงมาก การเมืองไม่มีเสถียรภาพมี
ความวุ่นวายเกิดขึ้นบ่อยครั้งการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรเขมร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์อำนาจ
ทางการเมืองที่สำคัญยิ่งของดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองสุโขทัยซึ่งได้ก่อร่างสร้างเมืองมาแล้วเป็นอย่างดีจึงสามารถก่อตั้งอาณาจักรของตนขึ้นมาได้ในช่องว่างแห่งอำนาจนี้




การขยายอาณาเขตในสมัยพ่อขุนรามคำแหงอาศัยกำลังทางทหารและการสร้างความสัมพันธ์
ทางเครือญาติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีการจัดระบบการปกครองที่รัดกุมในการควบคุมดูแลดินแดนที่ได้มา ทำให้บรรดาหัวเมืองชั้นนอกมีอิสระในการปกครองอย่างมากการที่อาณาจักรยังคงดำรงอยู่ได้ด้วยความสามารถส่วนตัวของผู้นำ ดังนั้นเมื่อสิ้นรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์สืบต่อมาไม่มีความสามารถเท่ากับพระองค์ อาณาจักรจึงแตกสลายออกเป็นเสี่ยงๆและแตกแยกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย ครั้นถึงรัชสมัย พระเจ้าลิไท หรือ พระมหาธรรมราชราที่ 1 (พ.ศ.-1890 - 1912) พระองค์ทรงพยายามรวบรวมเมืองต่าง ๆ ที่แตกแยกออกโดยใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงเมืองเหล่านี้ให้กลับเข้ามารวมอยู่กับอาณาจักรสุโขทัยอีกครั้งหนึ่งแต่พระเจ้าลิไทก็ทรงประสบความสำเร็จเพียงบางส่วนเท่านั้น




ในปี พ.ศ.1921 สุโขทัยตกเป็นประเทศราชของอยุธยา อยู่ประมาณ10 ปีจึงสมารถกลับมา
เป็นอิสระอีกครั้งในปี พ.ศ.1931และได้เกิดจลาจลแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระยาบาลและพระยารามพระราชโอรสของพระมหาธรรมราชาที่3จึงเปิดโอกาสให้อยุธยาเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในทำให้สุโขทัยต้องตกเป็นประเทศราชของอยุธยาอีกครั้งหนึ่งโดยในครั้งนี้อยุธยาได้แบ่งอาณาจักรของสุโขทัยออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมี เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองสำคัญและอยู่ในฐานะเมืองหลวงแห่งใหม่อีก ส่วนหนึ่งมีเมืองกำแพงแพชร เป็นเมืองศูนย์กลาง




สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้ทรงสถาปนาให้พระราเมศวรพระราชโอรสซึ่งทรงมีเชื้อ
พระวงศ์สุโขทัยทางฝ่ายพระราชมารดาเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกอาณาจักรสุโขทัยจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา ซึ่งนับเป็นการสิ้นสุดอาณาจักรสุโขทัยตั้งแต่นั้นมา




สภาพเศรษฐกิจและสังคม




ลักษณะทางเศรษฐกิจ





อาณาจักรสุโขทัยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจอยู่ที่การเกษตรเป็นหลัก โดยมีการค้าและการทำ เครื่องสังคโลกเป็นส่วนประกอบสำคัญ จากหลักฐานต่าง ๆ เท่าที่ได้ค้นพบและศึกษาค้นคว้ากันมา เศรษฐกิจของอาณาจักรสุโขทัยน่าจะมีเพียงแค่พอกินพอใช้ในอาณาจักรเท่านั้น มิได้มีความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์มากเท่ากับอาณาจักรอยุธยา ทั้งนี้เพราะสภาพภูมิศาสตร์และทำเลที่ตั้งของอาณาจักร สุโขทัยไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกและการเป็นศูนย์การค้ามากเท่ากับอาณาจักรอยุธยาซึ่งมีอาณาบริเวณ อยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่อุดมสมบูรณ์มากนี้เป็นสาเหตุ ประการหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรสุโขทัยไม่สามารถมีอำนาจทางการเมืองอยู่ได้เป็นเวลานาน




สังคมการเกษตร





การเกษตรอาณาจักรสุโขทัยมีสภาพพื้นที่ราบที่ใช้ในการเพาะปลูกแบ่งอย่างกว้าง ๆ ได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบเชิงเขา บริเวณที่ราบลุ่มที่สำคัญ คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำยมและ แม่น้ำ ซึ่งมีอาณาบริเวณตั้งแต่อุตรดิตถ์ ศรีสัชนาลัย สุโขทัย เรื่อยลงมาจนถึงนครสวรรค์พื้นที่แถบนี้ มีลักษระเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่และเนื่องจากลำน้ำยมและลำน้ำน่านมีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลบ่า มาจากภูเขาทางภาคเหนือ ทำให้การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างไม่ทันยังผลให้มีน้ำท่วม ที่ราบลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านนี้ ซึ่งบริเวณนี้ควรจะทำการเพาะปลูกได้ดีนี้กลับได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร และทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงเมืองกำแพงเพชร เป็นพื้นที่ดอน ดินไม่ใคร่อุดม สมบูรณ์ จึงทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผลดีนักจากสภาพภูมิศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกษตรใน อาณาจักรสุโขทัยต้องใช้ระบบชลประทานเข้ามาช่วยด้วยจุดประสงค์ 2 ประการ คือ เพื่อควบคุมน้ำ ที่ไหลบ่ามาจากบริเวณภูเขา และน้ำที่ล้นมาตามลำน้ำต่างๆ ให้ไหลไปตามแนวทางควบคุมบังคับที่ ทำไว้หรือมิฉะนั้นก็เพื่อเก็บกักน้ำไว้ภายในหุบเขาแล้วขุดคลองระบายน้ำเข้าไปในพื้นที่ที่ทำการ เพาะ ปลูกเขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างขึ้น เพื่อประโยชน์ทางชลประทานในสมัยสุโขทัยคือเขื่อนสรีดภงด์ หรือ ทำนบพระร่วงเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่สร้างอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองสุโขทัย นอกจาก ทำนบเก็บกักน้ำแล้วยังมีการสร้างเหมืองฝายและขุดคูคลองส่งน้ำเป็นแนวยาวตั้งแต่ศรีสัชนาลัยผ่าน สุโขทัยออกไปถึงกำแพงเพชรด้วยระบบชลประทานดังกล่าวข้างต้นทำให้ผืนดินโดยรอบเมืองสุโขทัย พื้นที่ระหว่าง ศรีสัชนาลัย สุโขทัย และกำแพงเพชร เป็นผืนดินอันกว้างใหญ่ที่ใช้ทำการเพาะปลูกได้ พืชสำคัญที่ปลูกกันมากในอาณาจักรสุโขทัยจนกลายเป็นพืชหลัก คือ ข้าวรองลงมา ได้แก่
มะม่วง มะพร้าว มะขาม ขนุน หมากพลู พืชไร่และไม้ผลอื่นๆ ผลผลิตที่ได้คงมีปริมาณเพียงแค่การ บริโภคภายในอาณาจักรเท่านั้น และคงจะไม่อุดมสมบูรณ์ถึงขั้นที่จะเลี้ยงประชากรจำนวนมาก ๆ ได้ในด้านรัฐบาลได้สนับสนุนให้ประชาชนทำการเพาะปลูกด้วยการยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้หักร้าง ถางพงทำการเกษตรในผืนดินต่าง ๆ และที่ดินนั้นยังเป็นมรดกตกทอดมาถึงลูกหลานได้อีกด้วย ดังปรากฏในความตอนหนึ่งของศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า
"สร้างป่าหมากผ่าพลูทั่วเมืองนี้ทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้..........ใคร สร้างได้ไว้แก่มัน" "ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ล้มตายหายหว่า เหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อคำมันช้างขอ ลูกเมียเยียบข้าวไพร่ฟ้าข้าไทป่าหมากป่าพลูพ่อเชื้อมัน ไว้แก่ลูกมันสิ้น"


การที่ต้องลงทุนจัดระบบชลประทานเพื่อการเพาะปลูก ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ ทางการ เกษตรของอาณาจักรสุโขทัยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่จะสามารถกักเก็บไว้ได้นานเพียงไหน และความ สามารถในการบำรุงรักษาระบบชลประทาน ผลผลิตทางการเกษตรจึงไม่ใช่ผลผลิตที่คงที่ บางครั้ง สุโขทัยต้องสั่งสินค้าข้าวจากดินแดนทางใต้แถบลพบุรีขึ้นไปเลี้ยงประชากรในอาณาจักร ด้วยเหตุนี้ อาณาจักรสุโขทัยจึงไม่มีฐานพลังทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่งพอที่จะตั้งตัวเป็นอาณาจักรใหญ่และมีอำนาจ อยู่เป็นเวลานานได้










แบบทดสอบหลังเรียน
http://quickr.me/04LJnag