วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การปกครองสมัยกรุงธนบุรี


การปกครองสมัยกรุงธนบุรี

การปกครองในสมัยกรุงธนบุรียังคงมีรูปแบบเหมือนกับสมัยอยุธยาตอนปลาย พอสรุปได้ดังนี้ การปกครองส่วนกลาง หรือ การปกครองในราชธานีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดเปรียบเสมือนสมมุติเทพ มีเจ้าฟ้าอินทรพิทักษ์ดำรงดำแหน่งพระมหาอุปราช มีตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารหรือสมุหพระกลาโหม มียศเป็นเจ้าพระยามหาเสนา และอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือนหรือสมุหนายก(มหาไทย) มียศเป็นเจ้าพระยาจักรี เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาเสนาบดีจตุสดมภ์ 4 กรมได้แก่

1. กรมเมือง (นครบาล) มีพระยายมราชเป็นผู้บังคับบัญชา ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองภายในเขตราชธานี การบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรและการปราบโจรผู้ร้าย

2. กรมวัง (ธรรมาธิกรณ์) มีพระยาธรรมาเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการภายในราชสำนักและพิพากษาอรรถคดี

3. กรมพระคลัง (โกษาธิบดี) มีพระยาโกษาธดีเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับจ่ายเงินของแผ่นดิน และติดต่อ ทำการค้ากับต่างประเทศ

4. กรมนา (เกษตราธิการ) มีพระยาพลเทพเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาและเสบียงอาหารตลอดจน ดูแลที่นาหลวง เก็บภาษีค่านา เก็บข้าวขึ้นฉางหลวงและพิจารณาคดีความเกี่ยวกับเรื่องโค กระบือ และที่นาการปกครองส่วนภูมิภาค หรือ การปกครองหัวเมืองการปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็น หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองประเทศราช หัวเมืองชั้นใน จัดเป็นเมืองระดับชั้นจัตวา มีขุนนางชั้นผู้น้อยเป็นผู้ดูแลเมือง ไม่มีเจ้าเมือง ผู้ปกครองเมืองเรียกว่า ผู้รั้ง หรือ จ่าเมือง อำนาจในการปกครองขึ้นอยู่กับเสนาบดีจัตุสดมภ์ หัวเมืองชั้นในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ พระประแดง นนทบุรี สามโคก(ปทุมธานี) หัวเมืองชั้นนอก หรือเมืองพระยามหานคร เป็นเมืองที่อยู่นอกเขตราชธานีออกไป กำหนดฐานะเป็นเมืองระดับชั้น เอก โท ตรี จัตวา ตามลำดับ หัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นอยู่กับอัครมหาเสนาบดีฝ่ายสมุหนายก ส่วนหัวเมืองฝ่ายใต้และหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก ขึ้นอยู่กับกรมท่า(กรมพระคลัง) ถ้าเป็นเมืองชั้นเอก พระมหากษัตริย์ จะส่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ออกไปเป็นเจ้าเมือง ทำหน้าที่ดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นเอก ได้แก่ พิษณุโลก จันทบูรณ์ หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นโทได้แก่ สวรรคโลก ระยอง เพชรบูรณ์ หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นตรี ได้แก่ พิจิตร นครสวรรค์ หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นจัตวาได้แก่ ไชยบาดาล ชลบุรี หัวเมืองประเทศราชเป็นเมืองต่างชาติต่างภาษาที่อยู่ห่างไกลออกไปติดชายแดนประเทศอื่น มีกษัตริย์ปกครอง แต่ต้องได้รับการแต่งตั้งจากกรุงธนบุรี ประเทศเหล่านั้น ประมุขของแต่ละประเทศจัดการปกครองกันเอง แต่ต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการมาให้ตามที่กำหนด หัวเมืองประเทศราช ในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ เชียงใหม่ (ล้านนาไทย) ลาว (หลวงพระบาง,เวียงจันทน์, จำปาศักดิ์) กัมพูชา(เขมร) และนครศรีธรรมราช
เศรษฐกิจสมัยธนบุรี
หลังจาการกู้เอกราชสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี งานที่ทรงจัดทำต่อไปคือการรวบรวมผู้คนให้มาอยู่รวมกันเพื่อเป็นกำลังของชาติต่อไป การที่มีคนมารวมอยู่มากขึ้นก่อให้เกิดปัญหา ทรงได้แก้ไขดังนี้
1. ในระยะแรกของการครองราชย์ เป็นภาวะที่พ้นจากการศึกสงคราม ราษฎรยังไม่ได้ทำนา ทรงแก้ไขการขาดแคลนเฉพาะหน้าด้วยการใช้ราชทรัพย์ส่วยพระองค์ซื้อข้าวสารจากพ่อค้าจีน เพื่อแจกจ่าย
ให้แก่บรรดาข้าราชการ ทหาร และพลเรือนทั้งไทยและจีนคนละ 1 ถังต่อ 20 วัน นอกจากนี้ทรงแจกจ่ายอาหารให้พลเรือนที่อดอยากด้วย *
2. ทรงโปรดให้ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทำนาปีละ 2 ครั้ง ( เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนข้าว)ทรงให้ข้าราชการและพลเรือนทั้งหลายจับหนูมาส่งกรมพระนครบาล เพื่อปราบการระบาดของหนูในยุ้งฉาง
3. ทรงใช้การส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ ส่งสำเภาหลวงออกไปทำการค้ากับนานาประเทศทางตะวันออกไปถึงเมืองจีน ทางตะวันตกไปถึงอินเดียเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับท้องพระคลัง รวมทั้งมีชาวต่าง -ประเทศมาติดต่อค้าขายเป็นอันมาก เช่น จีน ชวา แขกมัวร์ ( ชาวอาหรับ )
4. ทรงปราบปรามโจรผู้ร้ายที่ปล้นสะดมในฤดูที่เก็บเกี่ยว สมเด็จพระเจ้าตากทรงดำเนินการ
แก้ไขโดยจัดกองทหารออกลาดตระเวนตรวจตราและใช้มาตราการขั้นเด็ดขาดแก่ผู้ประพฤติตนเป็นโจรผู้ร้าย
5. การหารายได้จากภาษีอากร ส่วย และเครื่องบรรณาการต่างๆจากหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช
6. เพิ่มพูนรายได้แผ่นดินด้วยการเปิดโอกาสให้มีการประมูลผูกขาดเก็บค่าภาคหลวง ขุดทรัพย์ที่มีคนฝังเอาไว้ในกรุงศรีอยุธยา ที่ฝังไว้ในขณะหลบหนีพม่า
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขเศรษฐกิจและสภาพบ้านเมือง ยังมีปัญหาอยู่บ้าง ดังที่บาดหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อ มอรซิเยอร์ เลอบอง ซึ่งเข้ามาในเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2314 จดบันทึกไว้ในช่วงพ.ศ. 2318ดังนี้
“ จนถึงเวลาเดี๋ยวนี้ อาหารการกินในเมืองนี้ยังแพงมาก เพราะบ้านเมืองไม่เป็นอันทำมาหากินมาเป็นเวลา ๑๕ ปีแล้ว และในเวลานี้ยังหาสงบทีเดียวไม่”*
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกังวลพระทัยเรื่องนี้เคยทรงตรัสว่า
“บุทคลผู้ใดเป็นอาทิคือเทวดา บุทคลผู้มีฤทธิ์มาประสิทธิ์มากระทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ขึ้น ให้สัตว์โลกเป็นสุขได้แม้นผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคแก่ผู้นั้นได้”* *