หน่วยที่ 1

1.1 ความหมายของกฎหมาย

1. ความเบื้องต้น

ในสังคมใด ๆ ก็ตามที่มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน ย่อมมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ควบคุมความประพฤติของบุคคลในสังคม ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแนวความคิด ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับหรือแม้กระทั่งกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมซึ่งสมาชิกในสังคม หรือเรียกได้ว่าเป็นบรรทัดฐานทางสังคม (Norm social - Social Norm) ที่ทุกๆ คนยอมรับและประพฤติปฏิบัติตาม

บรรทัดฐานทางสังคม เมื่อถูกกำหนดโดยบุคคลผู้มีอำนาจสูงสุด (Souverain - Sovereign) หรือรัฐาธิปัตย์ หรือองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดโดยผ่านกระบานการทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ แล้วนำมาใช้บังคับกับทุกๆ คน เราเรียกบรรทัดฐานทางสังคมนี้ว่า “กฎหมาย” (Droit Law)

กฎหมาย โดยสภาพมีบทบาทในการกำหนดให้บุคคลในสังคมกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง (แล้วแต่วัตถุประสงค์ของกฎหมาย) ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำโดยกำหนดเครื่องมือที่ใช้บังคับหรือลงโทษบุคคลที่ฝ่าฝืนหรือไม่กระทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

ดังนั้น บรรทัดฐานที่ทางสังคมที่ถูกจัดทำให้เป็นกฎหมายแล้วจึงแปรสภาพมาเป็น “บรรทัดฐานทางกฎหมาย” (Norme Juridique – Legal Norm) ที่ใช้ตัดสินว่าการกระทำหรืองดเว้นกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจะเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว และอะไรควรประพฤติปฏิบัติ อะไรไม่ควรประพฤติปฏิบัติในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม

เมื่อพิจารณากฎหมายในเชิงบทบาทและหน้าที่แล้ว เราจะพบว่า กฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จัดระเบียบเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของบุคคลหรือจัดระเบียบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมรวมทั้งระหว่างบุคคลในสังคมในสังคมกับรัฐในบริบทต่างๆ ทั้งที่เป็นการจัดระเบียบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ฯลฯ

ในขอบเขตทางการเมือง มีกฎหมายว่าด้วยสถาบันการเมืองการปกครองเป็นหลักในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ ในทางเศรษฐกิจมีกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ รวมทั้งกฎหมายเศรษฐกิจ (Droit economique – Economic Law) เป็นหลักในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเอกชนและระหว่างเอกชนกับรัฐ ขณะที่ในขอบเขตทางสังคมมีกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นหลักในการจัดระเบียบฯ

การจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างบุคคลกับรัฐในด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมดังกล่าวที่ปรากฏในรูปของกฎหมาย มีวัตถุประสงค์เฉพาะหน้าเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม และเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือสร้างดุลยภาพทางสังคมในระยะสั้นและระยะยาว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการจัดระเบียบตามความเป็นจริงไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแข้งได้ทุกกรณีไป แต่อย่างน้อยบทบาทและหน้าที่ของกฎหมายไม่ว่าจะอยู่ในปริมณฑลใด ในเบื้องต้นก็มุ่งที่จะรักษาดุลแห่งผลประโยชน์ระหว่างบุคคลและระหว่างบุคคลกับรัฐ โดยพยายามให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์และความพอใจสูงสุดและกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือสังคมน้อยที่สุด ดังที่ได้กล่าวแล้วว่ากฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างดุลยภาพทางสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกฎหมาย

มีผู้ให้คำนิยามและความหมายของคำว่ารัฐไว้หลายความหมาย ซึ่งส่วนใหญ่สอดคล้องต้องกันและสอดคล้องกันวิวัฒนาการของสังคมโลกเราที่แบ่งออกเป็นรัฐต่างๆ ในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ โอริอู (Maurice Hauriou) แห่งมหาวิทยาลัยตูลูส ฝรั่งเศส อธิบายว่า รัฐ คือ “การรวมเอาระบบเศรษฐกิจ การเมือง และกฎหมายเข้าไว้ด้วยกันเพื่อสถาปนาระบอบการปกครองขึ้นในสังคมนั้น”

ศาสตราจารย์วิษณุ เครืองาม อธิบายไว้ว่า รัฐ “หมายถึงสังคมการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยดินแดนหรืออาณาเขตอันแน่ชัดและราษฎรหรือสมาชิกของสังคมการเมืองนั้น ตลอดจนอำนาจทางการเมือง การปกครองในอันที่จะรักษารัฐนั้น ไว้ให้ดำรงต่อไปได้”

ในด้านกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญามอนเทริเอโอ ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (The Montevideo Convention on the rights and Duties of States) ค.ศ. 1933 มาตรา 1 ได้อธิบายองค์ประกอบของรัฐไว้ว่า ต้องประกอบด้วย

- ประชากรที่อยู่รวมกันถาวร
- ดินแดนที่กำหนดได้อย่างแน่ชัด
- รัฐบาล
- ความสามารถที่จะสถาปนาความสัมพันธ์กับต่างรัฐได้

เมื่อพิจารณาคำนิยามความหมายของรัฐเราจะพบว่า รัฐ ย่อมเกี่ยวพันกับอำนาจในการทำให้รัฐ
ดำรงอยู่ รัฐจึงจำเป็นต้องจัดระเบียบ ที่ปรากฏในรูปของกฎหมายที่กำหนดอำนาจต่างๆ ไว้ กฎหมายจึงเป็นผลผลิตที่เกิดจากการมีรัฐขึ้นก่อน และภายในรัฐได้มีการจัดระเบียบในรูปของกฎหมายที่กำหนดอำนาจต่างๆ ตามมา เนื้อหาสาระบัญญัติของกฎหมายจะสอดคล้องกับความต้องการมีอำนาจต่างๆ ของรัฐ และได้มีการกำหนดรายละเอียดในกฎหมายมากขึ้น เช่น รูปของรัฐ อำนาจอธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชน การใช้อำนาจอธิปไตย รัฐบาล ฯลฯ ซี่งเราเรียกกฎหมายนี้ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายสูงสุดของรัฐ

การดำรงอยู่ของรัฐนั้นมีความสัมพันธ์กับบริบทต่างๆ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นเพื่อให้รัฐสามารถดำรงความเป็นรัฐอยู่ได้ตลอดไป แต่ละรัฐจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีกฎหมายทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อการดำรงอยู่ของรัฐนั่นเอง

ในขอบเขตทางการเมือง การจัดระเบียบทางการเมืองของสังคมไทยได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและมีอำนาจเด็ดขาด มาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและวางหลักเกณฑ์ และระเบียบเกี่ยวกับสถาบันการเมืองการปกครอง และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจเป็น 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์ ทรงมีพระราชอำนาจในการจัดระเบียบการเมืองการปกครองโดยนิตินัยแต่เพียงพระองค์เดียวแต่ในปัจจุบันเรามีระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนคนไทยทุกคน ใช้อำนาจนั้นผ่านทางผู้แทนโดยการเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

ในทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ การจัดระเบียบทางการเมือง ดำเนินไปภายใต้กฎหมายสูงสุดคือกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้จัดระเบียบ เกี่ยวกับการเมืองการการปกครองไว้อย่างสอดคล้องกับพัฒนาการทางการเมืองของสังคมไทย โดยมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทั้งนี้โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ

การจัดระเบียบในทางการเมืองการปกครอง นอกจากมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการปกครองประเทศที่แบ่งอำนาจออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการแล้ว ยังได้ก่อตั้งองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองและการปกครองมากยิ่งขึ้นในนอกจากนั้น ยังมีกฎหมายที่บัญญัติโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองโดยมีการกำหนดสิทธิ หน้าที่ของพลเมืองและของรัฐอีกจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมและตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินฯ

ในขอบเขตทางเศรษฐกิจการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกันไม่แตกต่างไปจากกฎหมายมากนัก เพราะบรรทัดฐานทางเศรษฐกิจ (Norme Economique – Economic Norm) ที่มีบทบาทและหน้าที่กำหนดวิถีการดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจของบุคคลในสังคม ก็ได้แปรสภาพเป็นกฎเกณฑ์หรือระเบียบทางเศรษฐกิจในเวลาต่อมาและพัฒนาไปสู่กฎเกณฑ์กฎหมายเศรษฐกิจในที่สุดที่ใช้บังคับต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างบุคคลกับรัฐในทางเศรษฐกิจ

ขณะที่กฎหมายเกิดจากความจำเป็นที่สังคมต้องการดุลยภาพโดยการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ใช้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์ กฎเกณฑ์กฎหมายเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกันเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่สังคมต้องการดุลยภาพทางเศรษฐกิจ เช่นกัน เพราะในสังคมหนึ่ง ๆ นั้น ทรัพยากรที่ใช้ตอบสนองความต้องการของบุคคลในสังคมและของสังคมมีจำนวนจำกัด จึงจำเป็นต้องมีการจัดระเบียบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างบุคคลและระหว่างบุคคลกับรัฐ เพื่อให้ทุกฝ่ายรวมทั้งรัฐได้รับผลประโยชน์และความพอใจสูงสุดจากทรัพยากรที่มีจำกัดนี้

ดังนั้น ในสังคมหนึ่งๆ กฎเกณฑ์ทางกฎหมายและกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจจะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและมีลักษณะสอดคล้องกันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจของสังคม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในบางกรณีเมื่อกฎเกณฑ์ทั้งสองมีความขัดแย้งกันหรือไม่สอดคล้องกันความขัดแย้งกันหรือไม่สอดคล้องกันความขัดแย้งหรือความไม่สอดคล้องกันจะดำรงอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้นเพราะกฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่งภายใต้เงื่อนไขที่ว่ากฎเกณฑ์ใดจะเป็นกฎเกณฑ์นำและอีกกฎเกณฑ์ต้องปรับตามตัวอย่าง เช่น การปรับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การควบคุมราคาสินค้าและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน ถ้าปรากฏว่าความเป็นจริงทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปโดยอัตราค่าครองชีพสูงขึ้น สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ขึ้นราคาสูงมาก หรือเงื่อนไขของการส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนไม่สอดคล้องกับการลงทุนหรือกระตุ้นให้เกิดการลงทุน กฎเกณฑ์กฎหมายดังกล่าวต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ ในทางกลับกันถ้าการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์กฎหมาย กฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจก็ต้องปรับตัวตาม เช่น ตลาดต้องปรับตัวตามกฎหมายป้องกันการผูกขาด (Droit Anti trust – Antri – trust Law) และค้ากำไรเกินควรหรือตามกฎหมายป้องกันการทุ่มตลาด (anti – Dumping Law)

ในขอบเขต การจัดระเบียบทางสังคมที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการสร้างดุลยภาพทางสังคม บนพื้นฐานของความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ไม่สามารถเป็นรากฐานรองรับพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่รวดเร็วได้ โดยเฉพาะภายใต้ระบบและโครงสร้างทางสังคมในยุกต์โลกาภิวัฒน์ หรือโลกไร้พรมแดน ซึ่งมีผลต่อการกำหนดกรอบความคิด พฤติกรรม และความสัมพันธ์ทางสังคมรูปแบบใหม่ที่ไวต่อการับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในชีวิตประจำวัน

ภายใต้สังคมทุนนิยมเสรีที่มีการแข่งขันกันเข้มข้นความสัมพันธ์ทางสังคมสลับซับซ้อนและสร้างปัญหาในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับในครอบครัวในชุมชนในสังคม ในประเทศหรือระหว่างประเทศที่จะอาศัยการจัดระเบียบทางสังคมแบบปิดที่มอบอำนาจให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดระเบียบทางสังคมภายใต้อำนาจที่เกิดจากระบบการเมืองและการปกครองของแต่ละรัฐโดยเอกเทศและเป็นอิสระต่อไปไม่ได้เพราะ ยุกต์โลกไร้พรมแดนจำเป็นต้องมีกรอบ แนวทางทิศทางในการจัดระเบียบที่เป็นกลาง เป็นธรรมประสานผลประโยชน์ระหว่างรัฐที่สามารถก้าวข้ามพรมแดนระหว่างรัฐได้เพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีทั้งของรัฐภายในและระหว่างรัฐด้วยกัน

การจัดระเบียบทางสังคมของไทยเราก็เช่นเดียวกันหลีกเลี่ยงไม่พ้นกระแสโลาภิวัฒน์ที่ต้องจัดทำกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในยุกต์ปัจจุบันเพราะกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระเบียบทางสังคมดั้งเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาและสร้างดุลยภาพทางสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นได้จากการปรับปรุงและปฏิรูประบบการศึกษา ปฏิรูปกระบวนการคุ้มครองสิทธิ – เสรีภาพของประชาชนและแก้ปัญหาทางสังคมในรูปแบบใหม่ๆ ที่ปรากฏ

ดังนั้น กฎหมายทางสังคมซึ่งต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงฯ ได้ปรับตัวและพยายามวางหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่ากฎหมายเกี่ยวกับการจัดระเบียบทางสังคมไล่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงฯ แต่ก็ได้พัฒนาและปรับปรุงตลอดเวลาให้ทันสมัยเพื่อสร้าง

1.2 ความสำคัญของกฎหมาย

ในสังคมของมนุษย์นั้นมีสมาชิกจำนวนมากที่ มีความแตกต่างกัน ทั้งด้านความคิดเห็นและพฤติกรรมต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบหรือกติการ่วมกัน เพื่อเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ และช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับสังคม ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย กฎหมายมีความสำคัญต่อสังคมในด้านต่างๆ ดังนี้
1. กฎหมายสร้างความเป็นระเบียบและความสงบเรียบร้อยให้กับสังคมและประเทศชาติ เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมทุกคนจำเป็นต้องมีบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือเพื่อความสงบเรียบร้อย ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม
2. กฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พลเมืองไทยทุกคนต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของกฎหมาย ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ กฎหมายจะเกี่ยวข้องกับ การดำรงชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย


3. กฎหมายก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม คนเราทุกคนย่อมต้องการความ ยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะตัดสินว่าการกระทำใดถูกต้องหรือไม่นั้น ย่อมต้องมีหลักเกณฑ์ ฉะนั้น กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่เป็นหลักของความยุติธรรม


4. กฎหมายเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปในทางใด หรือคุณภาพของพลเมืองเป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาใช้บังคับ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายของการพัฒนาที่กำหนดไว้ ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้น ฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐเป็นผู้จัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บ ค่าใช้จ่ายนั้น ย่อมส่งผลให้ คุณภาพด้านการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น หรือการที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ พิทักษ์ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย่อมทำให้สังคมและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีมาตรฐานดีขึ้น
ดังนั้น การที่ประเทศใดจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เป็นไปในแนวทางใดก็ตามถ้าได้ มีบทบัญญัติของกฎหมายเป็นหลักการให้ทุกคนปฏิบัติตาม ก็ย่อมทำให้การพัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชนประสบผลสำเร็จได้สูงกว่าการปล่อยให้เป็นไปตามวิถีการ ดำเนินชีวิตของสังคมตามปกติ

1.3 องค์ประกอบของกฎหมาย
1. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ
หมายความว่า กฎหมายนั้นต้องอยู่ในรูปของคำสั่ง คำบัญชา อันเป็นการแสดงออกซึ่งความประสงค์ของผู้มีอำนาจในลักษณะเป็นการบังคับ เพื่อให้บุคคลอีกคนหนึ่งปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ มิใช่เป็นการประกาศชวนเชิญเฉย ๆ เช่น ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้ประกาศเชิญชวนคนไทยให้สวมหมวก เลิกกินหมากและให้นุ่งผ้าซิ่นแทนผ้าโจงกระเบน ประกาศนี้แจ้งให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลนิยมให้ประชาชนปฏิบัติอย่างไร มิได้บังคับจึงไม่เป็นกฎหมาย


2. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่มาจากรัฏฐาธิปัตย์
รัฎฐาธิปัตย์คือ ผู้ที่ประชาชนส่วนมากยอมรับนับถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน โดยที่ไม่ต้องฟังอำนาจจากผู้ใดอีก ดังนี้รัฎฐาธิปัตย์จึงไม่ต้องพิจารณาถึงที่มาหรือลักษณะการได้อำนาจว่าจะได้ อย่างไร แม้จะเป็นการปฏิวัติหรือรัฐประหารก็ตามถ้าหากคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหาร เป็นรัฎฐาธิปัตย์ที่สามารถออกคำสั่ง คำบัญชาในฐานะเป็นกฎหมายของประเทศได้


3. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป
หมายความว่า กฎหมายต้องเป็นเรื่องที่เมื่อประกาศใช้แล้วจะมีผลบังคับเป็นการทั่วไป ไม่ใช่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่ง หรือให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดปฏิบัติตามเท่านั้น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีอายุ เพศ หรือฐานะอย่างไรก็ตกอยู่ภายใต้ของการใช้บังคับกฎของกฎหมายอันเดียวกัน (โดยไม่เลือกปฏิบัติ) เพราะบุคคลทุกคนมีความเสมอภาคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน แม้กฎหมายบางอย่างอาจจะมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่บุคคล หรือวางความรับผิดชอบให้แก่คนบางหมู่เหล่า แต่ก็ยังอยู่ในความหมายที่ว่าใช้บังคับทั่วไปอยู่เหมือนกัน เพราะคนทั่ว ๆ ไปที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกฎหมายนั้นก็ยังต้องปฏิบัติตามอยู่เสมอ
สาระสำคัญอีกประการหนึ่งคือ กฎหมายเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้แล้วก็ใช้ได้ตลอกไป (CONTINUITY) จนกว่าจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมหรือถูกยกเลิก หากไม่มีการยกเลิกก็มีผลบังคับใช้ได้เสมอ ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “กฎหมายนอนหลับบางคราวแต่ไม่เคยตาย” (THELAW SOMETIMESSLEEP, NEVER DIE)


4. กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อให้บุคคลปฏิบัติตาม
แม้การปฏิบัติบางครั้งอาจจะเกิดจากความไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติ แต่หากเป็นคำสั่ง คำบัญชาแล้ว ผู้รับคำสั่ง คำบัญชา ต้องปฏิบัติตาม หากขัดขืนไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดสภาพบังคับของกฎหมาย อันเป็นผลร้ายต่อผู้ฝ่าฝืนคำสั่งนั้น และเป็นที่พึงเข้าใจด้วยว่าผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะรับคำสั่งและปฏิบัติตาม กฎหมายได้นั้นต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย
อย่างไรก็ดีแม้กฎหมายจะไม่ใช้บังคับแก่สัตว์ แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมมิให้สัตว์ก่อความเสียหายหรือความเดือด ร้อนรำคาญแก่มนุษย์ ดังนี้กฎหมายจึงกำหนดความรับผิดไว้กับบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่ปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมดูแลสัตว์เลี้ยงของตนตามสมควร จึงมิใช่เป็นการออกคำสั่ง คำบัญชาแก่สัตว์ แต่เป็นการควบคุมโดยผ่านทางผู้เป็นเจ้าของเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 บัญญัติว่า “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้คำเสียหายทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหาย”


5. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ
เพื่อให้กฎหมายเกิดความศักดิ์สิทธิ์ และประชาชนเคารพเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายจึงต้องมีสภาพบังคับ (SANCTION) สภาพบังคับของกฎหมายนั้นแบ่งเป็นสภาพบังคับในทางอาญาและทางแพ่ง
สภาพบังคับให้ทางอาญาโดยทั่วไปแล้ว คล้ายคลึงกัน คือ หากเป็นโทษสูงสุดจะใช้วิธีประหารชีวิต ซึ่งปางประเทศให้วิธีการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า แขวนคอ แต่ประเทศไทยในปัจจุบันให้นำไปฉีดยาให้ตายใช้วิธีประหารด้วยวิธีอื่นไม่ได้ นอกจากนั้นก็เป็นการจำคุก เป็นการเอาตัวนักโทษควบคุมในเรือนจำ ซึ่งต่างกับกักขังเป็นการเอาตัวไปกักไว้ที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ เช่นที่อยู่ของผู้นั้นเอง หรือสถานที่อื่นที่ผู้ต้องกักขังมีสิทธิดีกว่าผู้ต้องจำคุก สำหรับกฎหมายไทยโทษกักขังจะใช้เฉพาะผู้ซึ่งกระทำผิดครั้งแรก และความผิดนั้นมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ศาลจึงจะลงโทษกักขังแทนจำคุกได้ ส่วนการปรับคือ ให้ชำระเงินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาล
การริบทรัพย์สิน คือ การริบเอาทรัพย์นั้นตกเป็นของแผ่นดิน เช่น ปืนที่เตรียมไว้ยิงคน หรือเงินที่ไปปล้นเขามา นอกจากการริบแล้วอาจสั่งทำลายทรัพย์สินนั้นเสียก็ได้
สภาพบังคับในทางแพ่งก็ได้แก่ การกำหนดให้การกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายตกเป็นโมฆะ ตัวอย่างเช่น การซื้อขายที่ดินโดยมิได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตกเป็นโมฆะ การทำนิติกรรมซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายก็ดี เป็นการพ้นวิสัยก็ดี เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี ตกเป็นโมฆะ การให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งจากการไม่ชำระหนี้ การให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ถูกละเมิดเป็นต้น